วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการ PDCA

ชื่อเรื่อง :การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยการใช้กระบวนการ PDCA ในการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน 
                 ของครูในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 3 นนทบุรี -               พระนครศรีอยุธยา
ปีที่ศึกษา             ปีการศึกษา 2554


การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำกระบวนการ PDCA มาใช้ในการพัฒนางานวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนของครูโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3  (นนทบุรี -พระนครศรีอยุธยา) และเพื่อประเมินความพึงพอใจต่อการนำกระบวนการ PDCA มาใช้ในการพัฒนางานวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนของครู  กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัยคือครูผู้ปฏิบัติการสอนในโรงเรียนประจำปีการศึกษา 2554 จำนวน 167 คน กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยการใช้สูตรการคำนวณของทาโร ยามาเน ได้ขนาดของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 117 คน  สุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถามความคิดเห็นชนิดให้กลุ่มตัวอย่างตอบด้วยตนเองที่ผู้วิจัยเป็นผู้พัฒนาขึ้น เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale)  การเก็บรวบรวมข้อมูลกระทำระหว่างเดือนมีนาคม  2555       ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้

                กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับระดับความเหมาะสมของการนำกระบวนการ PDCA มาใช้ในการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา  ว่าอยู่ในระดับเหมาะสมมากถึงระดับมากที่สุดในทุกด้าน ได้แก่ ด้านการวางแผนโครงการการปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน (Plan :P)  ด้านการดำเนินการตามแผน (Do : D) ด้านการประเมินผลการดำเนินการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน (Control : C) และด้านการนำผลการประเมินไปปรับปรุง (Act :A)

                     
                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประเมินความพึงพอใจต่อการนำกระบวนการ PDCA มาใช้ในการพัฒนางานวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุดในทุกเรื่องยกเว้นเรื่อง การให้คำแนะนำ/ช่วยเหลือด้านวิชาการในระหว่างดำเนินงาน เรื่องความร่วมมือที่ได้รับจากหน่วยงานภายนอก และเรื่องความร่วมมือที่ได้รับจากนักเรียนและผู้ปกครองที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประเมินความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง



                        ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
                      1.) ผู้เกี่ยวข้องควรจัดหาเอกสารเกี่ยวกับการทำวิจัยในชั้นเรียนไว้สำหรับเป็นคู่มือให้ครูได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา เพื่อนำไปเป็นแนวทางการทำวิจัยในชั้นเรียนให้ถูกต้องตามกระบวนการ
                        2.) ควรจัดระบบงานในโรงเรียนให้เอื้อต่อครูผู้สอนให้มีเวลาพอจะทำการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน
                       3.) ควรจัดหาวัสดุอุปกรณ์  งบประมาณจากแหล่งทุนทั้งในหน่วยงานและนอกหน่วยงานเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าในการทำวิจัยในชั้นเรียน
                  4.) ควรจัดให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการทำวิจัยในชั้นเรียนทั้งในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกันและนอกกลุ่มสาระการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการทำวิจัยในชั้นเรียนให้มากยิ่งขึ้นต่อไป
                     5.) ผู้ที่เกี่ยวข้องควรสื่อสารกับนักเรียนและผู้ปกครองให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของการทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันให้มากยิ่งขึ้นต่อไป              
                  6.) คณะกรรมการดำเนินงานควรมีการนิเทศติดตาม แนะนำและให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานวิจัยในชั้นเรียนของครูให้มากยิ่งขึ้น